ไขคำตอบ! แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรคุย 2 นาทีถูกดูดเงินเกลี้ยง จริงหรือไม่-

กรณีอดีตสมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไทย ที่ถูกหลอกไปทำงานที่กัมพูชา เข้าให้ข้อมูลกับเพจสายไหมต้องรอด หลังหลบหนีออกมา พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือ กลยุทธ์ใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี เพียงโทร 2 นาทีเท่านั้น!

กระทั่งตำรวจ รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง และยังไม่เคยพบเคสแบบนี้ ทำให้กรณีดังกล่าว ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และตั้งคำถามว่าการดูดเงินจากการโทรเพียง 2 นาทีนั้นจริงหรือไม่? หรือเรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร?

แฉกลยุทธ์ใหม่! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกคุย 2 นาที-ดูดเงินได้เกลี้ยงบัญชี

ตร.ยังไม่พบเหยื่อแจ้งความ! แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกคุย 2 นาที-ดูดเงินหมดบัญชี

สมาคมธนาคารฯ ยืนยัน ไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

กลยุทธ์ใหม่! โทรคุย 2 นาที ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี ?

นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 23 ปี หนึ่งในแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทย กล่าวว่า ตนถูกหลอกไปทำงานในภูริคาสิโน เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ก่อนหลบหนีออกมาในวันที่ 4 ก.พ. 67 พร้อมเข้าให้ข้อมูลกับเพจสายไหมต้องรอด และแถลงรายละเอียดในวันที่ 12 ก.พ. 67

นายเอ เล่าว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตนไปทำงาน มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมาก มีเครื่องดูดเงินจำนวน 4 เครื่อง เป็นเครื่องที่มีมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท​ มีเจ้าของเป็นคนจีน ซื้อข้อมูลเหยื่อมาจากธนาคารรัฐแห่งหนึ่งในประเทศไทย และค่ายมือถือค่ายหนึ่ง​

เมื่อตนเห็นข้อมูลก็พบว่า ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ถูกขายจะเป็นของกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีเงินในบัญชีหมุนเวียน อย่างต่ำ 60 ล้านบาท​ พร้อมอธิบายว่า ตนจะรับหน้าที่ในการโทรไปหาเหยื่อ ซึ่งเป็นข้าราชการหรือคนที่มีเงิน

จากนั้นจะให้เหยื่อยืนยันเลขบัตรประชาชนว่าใช่หรือไม่ เพราะข้อมูลบัตรประชาชนจะถูกโยงกับข้อมูลธนาคาร โดยที่ตนจะบอกเหยื่อว่า เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โทรมาตรวจสอบข้อมูล ให้เหยื่อบอกข้อมูล ยืนยันตัวตน ซึ่งอาจตอบเพียงแค่ “ใช่” ใช้เวลาคุย 1 – 2 นาที เพื่อให้เครื่องสามารถดูดเงินของเหยื่อได้ ซึ่งแต่ละวันสามารถดูดเงินคนไทย ได้ถึง 150 ล้านบาท​

หลังทำงานได้ประมาณ 1 เดือน ตนพยายามส่งสัญญาณให้คนไทยเวลาโทรทุกครั้ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกจับได้และถูกทำร้ายร่างกาย จนคิดหาวิธีเอาตัวรอด 4 วัน กระทั่งตัดสินใจกระโดดจากชั้น 5 ของอาคาร ข้ามกำแพง และหลบหนีออกมาได้

ตำรวจเผยไม่เคยพบผู้เสียหายเข้าแจ้งความ

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังไม่พบว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า กรณีการถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่พบนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกหลอกให้ส่งข้อมูลบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และ OTP หรือถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล หรือแอปฯ ดูดเงิน เพื่อควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ แล้วถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่านแอปฯ ธนาคารในโทรศัพท์จนเงินหมดบัญชี

จึงขอเรียนประชาชนว่า อย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับกรณีดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังไม่พบกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเทคโนโลยีในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที ตามที่มีการกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ หากใครได้รับความเสียหายจากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที โดยไม่ได้มีการกดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือรหัสผ่าน และไม่ได้ติดตั้งแอปฯ ควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ให้รีบมาแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่โดยเร็ว พร้อมนำโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ว่าคนร้ายใช้เทคโนโลยีใดในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป

ดีอีเอส ชี้ดูดเงินจากการโทร 2 นาที ไม่จริง! อาจถูกล่อบันทึกเสียงยืนยันตัวตนคำพูดจาก เกมสล็อตมาใหม่

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะโฆษกกระทรวง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ในทางเทคนิค ซึ่งตนยังไม่พบรูปแบบหรือวิธีการในการหลอกลวงดูดเงินจากบัญชีเพียงแค่การพูดคุยทางโทรศัพท์ หากไม่มีการติดตั้งแอปฯ ที่ปลายทาง

โดยอาจจะมีขั้นตอนก่อนหน้านี้ เช่น มีการกดลิงก์ หรือสมัครแอปฯ มาก่อน และมีการโทรสอบถามรหัสผ่าน หรือหลอกบันทึกเสียงพูดเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าระบบธนาคารด้วยเสียง

จึงขอแจ้งเตือนว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกในเรื่องดังกล่าว

สมาคมธนาคารฯ ยืนยันไม่มีการใช้เสียงยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

หลังจากที่ทางโฆษกกระทรวงดีอีเอส ออกมาให้ข้อมูลว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจหลอกบันทึกเสียงพูดเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเข้าระบบธนาคารด้วยเสียงนั้น

ทำให้ทาง ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ออกมาชี้แจงว่า

ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ซึ่งระบบของธนาคาร มีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม

ทาง TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร

พร้อมแนะนำวิธีระวังมิจฉาชีพออนไลน์ 4 ข้อ ได้แก่

  1. ไม่ดาวน์โหลด รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลที่ไม่รู้จัก
  2. ไม่สแกนหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store
  3. เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ
  4. หากสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานโดยตรง

แนะ 8 วิธีป้องกันแอปฯ ดูดเงิน

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ยังระบุถึงวิธีป้องกันแอปฯ ดูดเงิน 8 วิธี ได้แก่

  1. ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น นอกจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
  2. ไม่ตั้ง password ซ้ำ หรือ ใช้ร่วมกับ Mobile Banking
  3. ไม่ทำการสแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก
  4. ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม โดยธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หากได้รับ SMS ดังกล่าว อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
  5. ควรสังเกต สัญลักษณ์โล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งควรมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น
  6. หากต้องการทำธุรกรรมใด ๆ ควรโทรฯ กลับไปที่หน่วยงานที่ถูกแอบอ้างด้วยตนเอง
  7. ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลข 13 หลัก ผ่านทางโทรศัพท์
  8. โทรแจ้ง 1441 สามารถแจ้งระงับอายัดบัญชีคนร้าย

ทั้งนี้ หากมีใครได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เปิดความหมาย "ดอกกุหลาบ" และ 40 ความหมายดอกไม้รับ "วันวาเลนไทน์"

104 แคปชัน-คำอวยพร วาเลนไทน์ 2567 ประโยคเด็ดบอกสถานะ โสด มีคู่ อกหัก

ทำความเข้าใจกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์” ก่อนสูญเสียที่ดินให้คนอื่นไม่รู้ตัว